หลายครั้งที่เราอาจจะคิดว่าการผลิตคอนเทนต์เยอะๆ ด้วยคีย์เวิร์ดและเนื้อหาใกล้เคียงเดิม อาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการทำให้ Google Bot เห็นถึงประสิทธิภาพของเว็บไซต์และจัดอันดับเว็บไซต์ไว้เป็นลำดับต้นๆ ของการค้นหา แต่อย่าลืมว่า Google เองก็มีการอัพเดทอัลกอริทึมอยู่เสมอเพื่อให้การคัดกรองและการ Index เว็บไซต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการผลิตคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน หรือการใช้ URL เว็บไซต์ที่มีชื่อใกล้เคียงกัน ก็ไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป เพราะการกระทำดังกล่าว สามารถทำให้ Google Bot เข้าใจว่าเว็บไซต์ของเรามีข้อมูลซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก อาจจะเลือกหน้าเพื่อ Index ไม่ตรงตามความต้องการของเรา และด้วยเหตุผลนี้เอง ‘Canonical Tag’ จึงเป็นตัวช่วยที่ดี ในการแก้ปัญหาจุดนี้ที่คนทำ SEO ควรทราบ
Canonical Tag คืออะไร
Canonical Tag คือส่วนย่อยของโค้ด HTML สำหรับใส่ URL เพื่อระบุหน้าเพจหลักในกรณีมีหน้าเพจหรือเนื้อหาที่ซ้ำกัน เพื่อให้ Google Bot หรืออัลกอริทึมของ Search Engine รับรู้ว่า URL ที่อยู่ภายใต้แทกนี้เป็นหน้าหลักและจดจำหน้าเว็บเพจนั้นๆ ในการจัดทำ Index เป็นการป้องกันไม่ให้ Bot ทำ Index ผิดหน้าเพจ และจัดอันดับหน้าเพจอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการ ขึ้นมาในอันดับแรกๆ ของการค้นหา
ทำไม Canonical Tag จึงสำคัญกับการทำ SEO
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการผลิตคอนเทนต์ด้วยคีย์เวิร์ดซ้ำๆ ที่ใกล้เคียงเดิมไม่ได้เป็นข้อดีเสมอไป เพราะ Google ไม่ชอบลักษณะของเนื้อหาที่ซ้ำ เนื่องจากยากต่อการเลือกว่าจะ Index ให้หน้าเว็บเพจไหนเป็นหน้าเพจที่ควรติดอันดับ SEO และจะพาลให้ Google มองว่าประสิทธิภาพของเว็บไซต์ลดลง ด้วยเหตุนี้ การทำ Canonical Tag จึงเป็นเหมือนการติดป้ายบอก Google Bot และมีความสำคัญในแง่ที่จะช่วยบอกให้ Google Bot รับทราบว่าหน้าไหนคือหน้าที่ควรทำ Index และป้องกันปัญหาข้อมูลซ้ำ ส่งผลให้เว็บไซต์ของเราดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
หน้าเว็บแบบไหนควรใช้ Canonical Tag
ลองพิจารณาดูก่อนว่า หน้าเว็บของคุณเข้าข่ายเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น แนะนำเลยว่าควรทำ Canonical Tag สำหรับหน้าเว็บค่ะ
- กรณีที่มีหน้าเว็บเพจที่มีเนื้อหาที่คล้ายกันหรือเหมือนกันกับหน้าเพจหลัก
- กรณีคอนเทนต์ที่มีรายละเอียดหรือข้อมูลคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น หน้าผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างแค่สีหรือขนาดสินค้า ที่มี Tag หรือ Filter แยกย่อยเป็น URL ที่แตกต่างกัน
- กรณีเว็บไซต์ที่มี URL ที่ต่างกัน แต่มีหน้าเพจเดียวกัน
วิธีการใช้ Canonical Tag
วิธีการใส่ Canonical Tag ให้กับหน้าเว็บเพจนั้นมีขั้นตอนไม่ยาก และสามารถทำได้หลายรูปแบบดังนี้
1. วาง Canonical Tag ในส่วน Head ด้วย HTML tags
โดยจะเป็นการนำ Canonical URL หรือที่อยู่เว็บเพจที่เราต้องการ มาทำการเพิ่ม Element
<link> ที่มี Attribute rel= “canonical” ลงไปในส่วน Head และตามด้วย Canonical URL ตามที่แสดงในตัวอย่างด้านล่างค่ะ
<link rel=“canonical” href=“https://example.com/canonical-page/” />
2. ใช้ Yoast SEO สำหรับการทำงานใน WordPress
Yoast SEO เป็น Plug-in สำหรับ WordPress ที่ใช้งานง่ายมาก เพียงแค่เลือกหัวข้อ Advanced และระบุ URL ของหน้าเว็บที่ต้องการทำ Canonical Tag ลงไปในช่อง Canonical URL เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย
3. ตั้งค่า Canonical ในหัวของ HTTP
กรณีนี้ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงกับหน้าเว็บที่เป็นไฟล์ PDF ซึ่งจะไม่สามารถใส่ Canonical Tag ในส่วน Head ได้ จึงทำได้โดยใช้ HTTP Header ในการตั้งค่า Canonicals และกรณีนี้ก็สามารถใช้กับหน้าเว็บปกติทั่วไปได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
HTTP/1.1 200 OK
Content-Type: application/pdf
Link: <https://ahrefs.com/blog/canonical-tags/>; rel=”canonical”
4. ตั้งค่า Canonical Tag ใน Sitemap
Sitemap คือแผนที่หรือแผนผังเว็บไซต์ ที่อธิบายว่าเว็บไซต์เรามีโครงสร้างอย่างไร เปรียบเสมือนสารบัญเว็บไซต์ ซึ่ง Google ได้ระบุว่าหน้าเว็บที่ไม่มีการระบุ Canonical Tag จะไม่สามารถถูกบรรจุลงบน Sitemap ได้ นั่นก็เพราะว่า Google จะสามารถเห็นรายชื่อเพจใน Sitemap ได้จากการทำ Canonical Tag นั่นเองค่ะ
5. ตั้งค่า Canonical Tag ด้วย 301 Redirects
กรณีนี้เป็นเหมือนการยืมมือของ 301 Redirects มาเปลี่ยนเส้นทางเว็บไซต์กรณีที่มี URL คล้ายๆ กันหรือให้การแสดงผลเหมือนกัน โดยเลือก URL ที่ต้องการทำ Canonical Tag และใช้ URL นั้นกับชุดคำสั่งโค้ด Redirect ก็ได้เช่นกันค่ะ โดยหากเราจะพิจารณาเลือก URL ใด URL หนึ่งมาทำ Canonical Tag ผ่าน 301 Redirects ก็ควรเลือก URL ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น รูปแบบ HTTPS หรือ www
ข้อควรระวังในการใช้ Canonical Tag
เมื่อรู้วิธีการใช้อย่างถูกต้องแล้ว ตัว Canonical Tag เองก็มีข้อควรระวังในการใช้งานอยู่เหมือนกันดังนี้
- ไม่ควรใช้ Conical Tag ใน HTML ของเทมเพลตหลัก เพราะจะทำให้ Tag ปรากฎบนทุกหน้าในเว็บไซต์
- ระวังการใส่ Canonical ที่มากกว่า 1 Tag ในหน้า HTML เดียวกัน
- การใส่ Canonical URL ควรใส่แบบเต็ม (Absolute URL) แทนที่จะเป็นแบบย่อ
- ไม่ควรใส่ Canonical Tag ในหน้าเว็บเพจที่ไม่ใช่หน้าเป้าหมายเพราะจะส่งผลต่อการทำ SEO และการจัดอันดับเว็บไซต์ได้
- ไม่ควรวาง Canonical ในส่วนของ Body และควรวางในส่วนของ Head เท่านั้น
เพียงเท่านี้ Canonical Tag ก็จะสามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน หรือ URL ที่คล้ายกัน เป็นเหมือนการบอกให้ Google Bot ได้รับทราบ และให้ความสำคัญกับการทำ Index ของหน้าเพจที่คุณต้องการได้แม่นยำขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำ SEO และเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการจัดอันดับเว็บไซต์ต่อไปนั่นเองค่ะ